ซื้อรถใหม่ หรือรถมือสอง เลือกแบบไหนดีกว่ากัน

อยากจะมีรถขับสักคัน คำถามแรกที่ต้องตัดสินใจ ก็คือจะเลือกซื้อ เป็นรถใหม่ป้ายแดง หรือรถมือสอง แบบไหนถึงจะดีกว่ากัน ซึ่งคำตอบก็ขึ้นอยู่ กับเงื่อนไขของแต่ละคน วันนี้เราก็ได้รวบรวมข้อดี และข้อเสีย ของการซื้อรถยนต์ทั้ง 2 ประเภท มาให้ได้เปรียบเทียบกัน จะได้ใช้เป็นข้อมูล ประกอบการตัดสินใจ รับรองว่า จะเป็นประโยชน์ กับทุกคนแน่นอน  


📌 สิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อรถ

งบประมาณ

ข้อแรกที่สำคัญที่สุด คืองบประมาณในการซื้อรถ ควรกำหนดให้ชัดเจน หากซื้อเงินสดก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่สำหรับคนที่ต้องการจะผ่อนชำระ นอกจากจะต้องคำนวณ เงินดาวน์ ค่างวดที่ต้องผ่อน ในแต่ละเดือนแล้ว ยังต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมัน ค่าประกัน ค่าต่อภาษี พรบ. รวมไปถึงสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งงบประมาณ ก็จะเป็นปัจจัย ที่ทำให้สามารถตัดสินใจได้ว่า จะเลือกซื้อรถใหม่ หรือรถมือสอง ได้ค่อนข้างมาก 

วัตถุประสงค์หลักในการใช้งาน 

สิ่งสำคัญไม่แพ้กัน คือ ต้องการซื้อรถยนต์ มาเพื่อใช้งานอะไรเป็นหลัก บางคนอาจจะต้องการ แค่รถยนต์ที่เน้นขับไปทำงาน ในระยะทางไม่ไกล รถมือสองสภาพดี ก็ถือว่าตอบโจทย์ความต้องการแล้ว แต่บางคนอาจ จะต้องการรถยนต์ สำหรับเดินทางบ่อย ๆ หรือสำหรับบรรทุกหนัก เน้นความสมบุกสมบัน ดังนั้นสภาพรถ ควรจะสมบูรณ์ เพื่อให้ทนทานต่อการใช้งาน ซึ่งวัตถุประสงค์ตรงนี้ จะเป็นสิ่งที่ช่วย ในการตัดสินใจเลือกรถ ว่าควรจะซื้อมือหนึ่ง หรือมือสอง จึงจะตรงความต้องการ 


📌 ข้อดีของการซื้อรถใหม่

◾สภาพความสมบูรณ์

สิ่งที่รถใหม่ได้เปรียบ คือสภาพการใช้งาน ที่ยังใหม่และสมบูรณ์ 100% ทำให้ขับขี่ได้อย่างอุ่นใจ มากกว่ารถมือสอง ที่อาจจะไม่ได้รู้ประวัติ ในการใช้งาน  


◾เทคโนโลยีรถยนต์ที่ทันสมัย

รถใหม่ป้ายแดง มักจะมาพร้อมกับ เทคโนโลยีในการขับขี่ ทันสมัยต่าง ๆ ที่ทางค่ายรถยนต์พัฒนา เพื่อเป็นจุดขาย ในการดึงดูดลูกค้า 


◾มีการรับประกันจากผู้ผลิต

เพิ่มความอุ่นใจให้กับผู้ซื้อ ในกรณีที่รถยนต์เกิดความขัดข้อง หรือต้องซ่อม ก็ไม่ต้องแบกรับ ภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ 


◾ ดอกเบี้ยถูก

แม้รถใหม่ป้ายแดง จะมีราคาสูงกว่ามือสอง แต่ดอกเบี้ยถูกกว่า และยังมีโปรโมชันต่าง ๆ จากบริษัทผู้ผลิตอีกด้วย


📌 ข้อเสียของการซื้อรถใหม่

◾ราคาแพง

ใครที่มีงบประมาณน้อย หรือสภาพคล่องทางการเงิน ไม่เอื้ออำนวย ก็อาจจะทำให้ถอดใจ แล้วหันไปเลือกซื้อ รถมือสองแทนนั่นเอง 


◾อนุมัติยาก

ถ้าเปรียบเทียบ กับการซื้อรถมือสองแล้ว การซื้อรถมือหนึ่ง ทางสถาบันการเงิน อาจจะอนุมัติ ได้ยากกว่า หรือมีเงื่อนไขที่มากกว่า


◾ราคาตก

สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ หลังจากซื้อแล้ว ราคาจะตกทันที โดยในบางรุ่นราคาอาจจะหายไปเลยครึ่งหนึ่ง ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจซื้อ ควรจะคำนึงถึงมูลค่าตรงนี้ด้วย


📌 ข้อดีของการซื้อรถมือสอง


◾ราคาถูก

สิ่งที่ทำให้คนตัดสินใจ ซื้อรถมือสอง เพราะราคาที่ถูกกว่ารถมือหนึ่งมาก ทำให้ช่วยประหยัดเงินไปได้มาก และงบประมาณไม่บานปลาย


◾อนุมัติง่าย

หากเลือกผ่อนชำระ รถมือสอง ถือว่ามีโอกาส ผ่านการอนุมัติ จากสถาบันการเงิน ง่ายกว่ารถใหม่ ทั้งยังมีเงื่อนไขน้อย แม้มีรายได้ไม่สูง ก็ยังสามารถกู้ซื้อได้ 


◾มีรุ่นรถให้เลือกมาก

จะเห็นได้ว่า มีเต็นท์รถมากมาย หรือแม้กระทั่ง เจ้าของเดิม ขายต่อเอง ทำให้คนซื้อ มีตัวเลือกมากขึ้น มีโอกาสได้รถสภาพดี ไม่ต่างจากรถมือหนึ่ง โดยเฉพาะหากเป็นรุ่นรถ ที่ค่อนข้างใหม่ หรือมีอายุการใช้งาน ไม่มากนัก 


◾ขายต่อได้

หากอยากเปลี่ยนคัน ก็สามารถขายต่อได้ ไม่ได้มีข้อจำกัดอะไร โดยราคาก็ไม่ได้ ลดลงมากมาย เมื่อเทียบกับรถใหม่ที่ขายต่อ แล้วราคาตกมากกว่า 


📌 ข้อเสียของการซื้อรถมือสอง

◾ซ่อมบ่อย

ปัญหากวนใจอันดับ 1 ของคนซื้อรถมือสอง คือขับไปซ่อมไป โดยเฉพาะรถยนต์ ที่อายุการใช้งานค่อนข้างมาก หรือเคยเป็นรถ ที่ผ่านการเฉี่ยวชนมาก่อน ดังนั้นคนที่ตัดสินใจ เลือกซื้อรถมือสอง ก็จะต้องยอมรับความเสี่ยง ที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย 


◾ดอกเบี้ยแพง

แน่นอนว่ารถมือสอง ราคาถูกกว่ามือหนึ่งมาก แต่สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ดอกเบี้ยที่สูงกว่า ยิ่งถ้าใครเลือกผ่อนชำระ ก็จะต้องผ่อนจ่าย ในอัตราที่ค่อนข้างสูง


◾ไม่รับประกันอะไหล่

รถมือสองส่วนใหญ่ มักจะมีการรับประกันจากทางเต็นท์รถ ในระยะเวลาสั้น ๆ หรือไม่มีเลย ซึ่งถ้าหากรถเกิดปัญหาขึ้นมา ค่าใช้จ่ายในการซ่อม ทางคนซื้อก็จะต้องเป็นคนรับผิดชอบเต็ม ๆ ต่างจากรถใหม่มือหนึ่ง ที่จะมีการรับประกัน และบริการเปลี่ยนอะไหล่ฟรี


ทั้งหมดนี้ก็คือข้อดีและข้อเสีย ของการเลือกซื้อ รถยนต์มือสอง หรือรถใหม่ป้ายแดง ซึ่งทั้ง 2 แบบ ก็มีข้อได้เปรียบที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข และความต้องการของคนซื้อ สิ่งสำคัญ คือ ควรจะเลือกให้ตอบโจทย์ การใช้งานให้มากที่สุด และจะต้องไม่เกินงบประมาณ หรือกระทบสภาพคล่องทางการเงิน เพราะหากไม่สามารถ ผ่อนชำระได้ตามกำหนด ก็จะทำให้มีปัญหาตามมา ในระยะยาว ได้นั่นเอง